การรับรองเอกสารตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการรับรองเอกสาร พ.ศ. 2539 มี 3 ประเภท ได้แก่
1) การรับรองนิติกรณ์เอกสารแปล
2) การรับรองนิติกรณ์สำเนาเอกสาร
3) การรับรองนิติกรณ์ลายมือชื่อ
เงื่อนไขเอกสารที่สามารถยื่นคำขอเพื่อรับรองนิติกรณ์เอกสาร
1) การรับรองนิติกรณ์เอกสารแปล
1.1 เอกสารต้นฉบับ
– คำแปลเอกสารจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ต้องเป็นเอกสารที่แปลจากต้นฉบับภาษาไทยที่ทางราชการออกให้ตามกฎหมาย หากเป็นเอกสารที่ภาคเอกชนจัดทำขึ้น จะต้องได้รับการรับรองจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก่อน
– คำแปลเอกสารจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย ต้องเป็นเอกสารที่แปลจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศที่ทางราชการของประเทศนั้นๆ ออกให้ หรือเป็นเอกสารที่แปลจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศ ซึ่งภาคเอกชนจัดทำขึ้น และต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ หรือหน่วยงานอื่นตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ (สำหรับอินเดีย เป็นกระทรวงการต่างประเทศ)
1.2 เอกสารคำแปล ต้องเป็นคำแปลที่ถูกต้อง โดยผู้แปลลงชื่อรับรองว่าเป็นคำแปลที่ถูกต้อง
2) การรับรองนิติกรณ์สำเนาเอกสาร
– ต้องเป็นเอกสารต้นฉบับภาษาไทยที่ทางราชการออกให้ตามกฎหมาย
– หากเป็นเอกสารที่ภาคเอกชนจัดทำขึ้น จะต้องได้รับการรับรองจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก่อน
3) การรับรองนิติกรณ์ลายมือชื่อ
– เอกสารไทย: ต้องเป็นเอกสารต้นฉบับที่ได้รับการรับรองนิติกรณ์และลงนามโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของกระทรวงการต่างประเทศ (กองสัญชาติและนิติกรณ์)
– เอกสารอินเดีย: ต้องเป็นเอกสารต้นฉบับที่ได้รับการรับรองนิติกรณ์และลงนามโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย
– เอกสารต่างประเทศ: ต้องเป็นเอกสารต้นฉบับที่ได้รับการรับรองนิติกรณ์และลงนามโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานเอกอัครราชทูตของประเทศนั้น และกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย
– การรับรองลายมือชื่อบุคคลหรือผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคล ผู้นั้นจะต้องมาลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ รับรองเฉพาะลายมือชื่อบุคคลสัญชาติไทย จะสามารถรับรองบุคคลสัญชาติอื่นเฉพาะกรณีลงนามในหนังสือยินยอมและมอบอำนาจให้บุตรสัญชาติไทยทำหนังสือเดินทางเท่านั้น
รายการเอกสารประกอบการยื่นคำขอ
1. เอกสารประจำตัว
1.1 บัตรประจำตัวประชาชน/หนังสือเดินทางของผู้ยื่น/เจ้าของเอกสาร
1.2 ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ (กรณีเจ้าของเอกสารมีการเปลี่ยนชื่อ)
1.3 ทะเบียนสมรส / สูติบัตร (กรณี บิดา/มารดา/บุตร สามี/ภรรยา มายื่นเอกสารแทน)
1.4 ทะเบียนบ้าน (กรณีเกี่ยวข้องกับที่อยู่)
1.5 หนังสือมอบอำนาจ (กรณีผู้อื่นนอกเหนือจาก บิดา/มารดา/บุตร สามี/ภรรยา มายื่นเอกสารแทน)
1.6 บัตรประจำตัวประชาชน/หนังสือเดินทางของผู้รับมอบอำนาจ (กรณียื่นเอกสารแทน)
1.7 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน/หนังสือเดินทางของผู้มอบอำนาจ (กรณียื่นเอกสารแทน)
1.8 หนังสือรับรองนิติบุคคล ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (กรณียื่นขอการรับรองเอกสารของบริษัท)
2. เอกสารต้นฉบับ
3. ต้นฉบับคำแปลที่ผู้แปลรับรองคำแปลถูกต้อง
4. ค่าธรรมเนียม นิติกรณ์ละ 900 รูปี
ระยะเวลาการดำเนินการ
ผู้ขอจะได้รับเอกสารคืนใน 3 วันทำการ นับแต่วันยื่นคำขอและเอกสารครบถ้วน
– เวลาการยื่นคำขอ 09.00 – 11.00 น.
– เวลาการรับเอกสาร 16.30 – 17.00 น.
การมอบอำนาจ
– หากผู้มอบอำนาจเป็นบุคคลสัญชาติไทยที่อยู่ในต่างประเทศ หนังสือมอบอำนาจต้องได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย หรือสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยที่ได้รับมอบหมายในประเทศนั้นๆ
– หากผู้มอบอำนาจเป็นบุคคลต่างชาติที่อยู่ในต่างประเทศ หนังสือมอบอำนาจต้องได้รับรองจากหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศนั้นๆ และสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย หรือสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยที่ได้รับมอบหมายในประเทศนั้น หรือสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลของประเทศนั้นๆ ในประเทศไทย
– หากผู้มอบอำนาจอยู่ในประเทศไทย การทำหนังสือมอบอำนาจอย่างน้อยต้องระบุเนื้อหา ดังนี้
– วัน เดือน ปี ที่กระทำการมอบอำนาจ
– ชื่อ-นามสกุลและที่อยู่ผู้มอบอำนาจ
– ชื่อ-นามสกุลและที่อยู่ผู้รับมอบอำนาจ
– ระบุเรื่องที่ต้องการมอบอำนาจให้ผู้อื่นมากระทำการแทน