อินเดียกับความริเริ่มเศรษฐกิจสีน้ำเงิน

อินเดียกับความริเริ่มเศรษฐกิจสีน้ำเงิน

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.ย. 2566

| 11,446 view

อินเดียกับความริเริ่มเศรษฐกิจสีน้ำเงิน
Indias’s Blue Economy Initiative

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี

จากแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งมุ่งไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมๆกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภาคพื้นดินนั้น ในปัจจุบันประชาคมโลกก็ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือ Blue Economy ไม่แพ้กัน โดยเศรษฐกิจสีน้ำเงินนั้น นับเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน หรืออีกนัยหนึ่งคือการขับเคลื่อนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการมุ่งเน้นดูแลรักษาระบบนิเวศให้เกิดความยั่งยืน โดยผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่สำคัญ ได้แก่ การทำประมง (Fisheries) การขนส่งทางทะเล (Transportation) การท่องเที่ยว Tourism และแหล่งน้ำมัน Energy โดยแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินนี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ UNSDGs เป้าหมายที่ 14: อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG 14 Life below water) อีกด้วย

สาธารณรัฐอินเดียถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจไวที่สุดในโลก แต่ในอัตราการเติบโตดังกล่าว จะพบว่าเศรษฐกิจของอินเดียเริ่มเติบโตได้ช้าลง เพื่อให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจของอินเดียยังคงสามารถเติบโตได้ในอัตราเท่าเดิมนั้น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลอินเดียเอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองหาพื้นที่ทางเศรษฐกิจใหม่เพื่อรักษาระดับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับมหาสมุทรอินเดีย และเล็งเห็นถึงโอกาสในเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่อินเดียพึงจะได้จากการเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมที่สำคัญอาทิ การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์และพืชน้ำ ท่าเรือ และการขนส่ง

Ocean_Economy_(1)

อนึ่ง จุดแข็งของอินเดียประการสำคัญ คือเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ทางทะเล เพราะเป็นประเทศที่มีภูมิศาสตร์ติดกับชายฝั่งทะเลกว่า 7,500 กิโลเมตรซึ่งยาวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งยังถูกโอบล้อมด้วยทะเลและมหาสมุทรที่สำคัญ มีหมู่เกาะที่อยู่นอกชายฝั่ง 1,382 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการเติบโตของอุตสาหกรรมการต่อเรือ และอุตสาหกรรมท่าเรือ โดยมี 12 ท่าเรือใหญ่ และ 187 ท่าเรือเล็กที่สามารถรองรับสินค้าได้กว่า 1,400 เมตริกตัน ทั้งนี้พบว่า ร้อยละ 95 ของการค้าของอินเดียถูกขนย้ายผ่านทางทะเล มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Exclusive Economic Zone) กว่า 2.24 ล้านตารางกิโลเมตร มีชาวประมงและชุมชนชายฝั่งกว่า 4 ล้านคน มีขีดความสามารถในการจับปลาสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีเรือประมงกว่า 250,000 ลำ รวมถึงมีภูมิภาคที่ติดกับชายฝั่งซึ่งมีประชากรหนาแน่นกว่า 250 ล้านคน กระจายใน 486 เมือง โดยในจำนวนนี้มี 36 เมืองที่มีประชากรมากกว่า 100,000 คน ซึ่งเมืองขนาดใหญ่ทั้งหลายนี้สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของเศรษฐกิจสีน้ำเงินข้างต้น นอกจากนี้อินเดียยังตั้งอยู่ริมมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นมหาสมุทรที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก สมบูรณ์ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และมีพื้นที่มากกว่า 70 ล้านตารางกิโลเมตรเชื่อมโยงหลายเมืองหลักของโลก จุดเด่นดังกล่าวจึงทำให้อินเดียมีขีดความสามารถสูงในด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงิน

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอินเดียจึงเล็งเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจสีน้ำเงินมาอย่างยาวนาน โดยเป็นในประเทศลำดับแรกๆ ของโลก ในการก่อตั้งกรมการพัฒนามหาสมุทร (Department of Ocean Development) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2524 (ค.ศ.1981) โดยปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันภายใต้ชื่อกระทรวงวิทยาศาสตร์โลก (Ministry of Earth Sciences)

ต่อมารัฐบาลอินเดียในปีพ.ศ. 2562 ได้กำหนดวิสัยทัศน์อินเดีย 2573 โดยกำหนดให้ 10 แนวทางของการสร้างอินเดียสมัยใหม่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การเติบโต สังคมที่เท่าเทียมและธรรมมาธิบาล ปราศจากความยากจนและอัตราการไม่รู้หนังสือ ซึ่งเศรษฐกิจสีน้ำเงินเป็น 1 ใน 10 แนวทางสำคัญดังกล่าว โดยนิยามของเศรษฐกิจสีน้ำเงินในการแสวงหาและการเพิ่มประสิทธิภาพในขีดความสามารถของมหาสมุทรและทะเลที่อยู่ภายการดูแลทางกฏหมายของอินเดียเพื่อการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคมในขณะที่อนุรักษ์ความสมบูรณ์ของผืนน้ำดังกล่าว นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นให้เกิดการบูรณาการนโยบายจากหลายภาคส่วนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนริมชายฝั่ง เพิ่มโอกาสการพัฒนาและการจ้างงาน

โดยรัฐบาลอินเดียมีความพยายามที่สำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจสีน้ำเงิน อาทิ การเสนอจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจกิจสีน้ำเงินแห่งชาติ (National Blue Economy Advisory Council: BEAC) โดยประกอบด้วยสำนักงานปลัดกระทรวง หรือ สำนักงานกรมที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารของรัฐชายฝั่ง รวมถึงผู้แทนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ยังได้ร่างเอกสารนโยบายเศรษฐกิจสีน้ำเงินเพื่อขอรับคำแนะนำจากประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยในเอกสารนโยบายดังกล่าวได้กำหนด 7 สาขาหลักเพื่อเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีน้ำเงินภายในประเทศ อันประกอบไปด้วย
1. กรอบสำหรับเศรษฐกิจสีน้ำเงินและธรรมาภิบาลมหาสมุทร
2. การวางแผนเชิงพื้นที่และการท่องเที่ยวทางทะเล
3. การประมง การเพาะเลี้ยง และการแปรรูปปลาทะเล
4. การตั้งโรงงานผลิตเ อุตสาหกรรมใหม่ การค้า เทคโนโลยี บริการ และการพัฒนาทักษะ
5. การขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน การส่งสินค้า และการถ่ายสินค้า
6. การทำเหมืองชายฝั่งและทะเลลึก และพลังงานนอกชายฝั่ง
7. แนวทางยุทศาสตร์และการนานาชาติสัมพันธ์

ในด้านการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐาน อินเดียได้ส่งเสริมเศรษฐกิจสีน้ำเงินผ่านแผนริเริ่มและการพัฒนาท่าเรือ การเพิ่มการเติบโตของการขนส่งชายฝั่ง การจัดทำเส้นทางการค้า การเดินทางและการท่องเที่ยว ผ่านโครงการสาครมาลา (Sagarmala) ที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการบูรณาการการพัฒนาทางทะเล โดยเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2558 เพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ทางทะเลของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการส่งเสริมการเติบโตที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือ ในขณะเดียวกันก็ดำเนินการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการขนส่งสินค้าจากเรือต่างๆ ให้ทันเวลามีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเน้นการพัฒนาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวทางทะเลและกิจกรรมนันทนาการ อาทิ กีฬาทางน้ำ กีฬาตกปลา การเยือนเกาะต่างๆ และการล่องเรือ ซึ่งโอกาสในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวดังกล่าวนี้ยังเป็นโจทย์สำคัญที่อินเดียสามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้

IMG-20230808-WA0002_(1)

ในด้านการพัฒนาการประมง รัฐบาลอินเดียได้ริเริ่มดำเนินโครงการ the Pradhan Mantri Matsya Sampada Yojana (PMMSY) ในปี พ.ศ.2563 ด้วยงบประมาณกว่า 2 แสนล้านรูปีเพื่อนำมาสู่การ “ปฏิรูปสีน้ำเงิน (Blue Revolution)” เพื่อพัฒนาภาคส่วนด้านการประมงที่ยั่งยืนและรับผิดชอบแก่สังคมภายในประเทศ นอกจากนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566-2567 รัฐบาลอินเดียยังสนับสนุนงบประมาณ 6 หมื่นล้านรูปเพื่อขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมที่สนับสนุนชาวประมงและผู้ประกอบการด้านการประมงภายในประเทศ

ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล รัฐบาลอินเดียยังจัดให้มีโครงการ Swachh Sagar, Surakshit Sagar ซี่งเป็นกิจกรรมการทำความสะอาด 75 ชายหาดในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นเวลา 75 วัน ระหว่างวันที่ 5 กรกฏาคม 2565 ถึงวันที่ 17 กันยายน 2565 โดยกิจกรรมการทำความสะอาดชายฝั่งดังกล่าวร่วมจัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์โลก กองกำลังป้องกันชายฝั่ง กระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงกิจการเยาวชนและกีฬา หน่วยบัญชาการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ พร้อมภาคีเครือข่ายต่างๆภายในประเทศ รวมถึงการดำเนินการยกร่างนโยบายขยะทางทะเลแห่งชาติ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชายหาดสำหรับการท่องเที่ยว โดยใช้แนวคิดไร้ขยะ (Zero Waste Approach) เพื่อร่วมกันสร้างความตระหนักให้หน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมริมชายฝั่งถึงความสำคัญของการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าว

การเติบโตของเศรษฐกิจสีน้ำเงินของอินเดียมีแนวโน้มขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2565 ยังมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ทั่วโลกจะประสบปัญหาจากผลกระทบของวิกฤตโรคโควิด-19 โดยรัฐบาลอินเดียยังได้กำหนดให้เศรษฐกิจสีน้ำเงินเป็น 1 ในแนวทางการเติบโตที่สำคัญประเทศ ซึ่งความมุ่งหวังอย่างหนึ่งของอินเดียคือการให้เศรษฐกิจสีน้ำเงินสร้างประโยชน์ต่อการความมั่นคงทางอาหาร การลดความยากจน การแก้ปัญหาและรับมือผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขีดความสามารถด้านการค้าและการลงทุน การเพิ่มความเชื่อมโยงทางทะเล การสร้างงานและการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

อนึ่ง อินเดียยังมีความท้าทายต่อการดำเนินงานเศรษฐกิจสีน้ำเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับอุปกรณ์ตกปลาที่ถูกทิ้งหรือสูญหายระหว่างการประมง หรือเรือประมงประสบอุบัติเหตุ หรือประสบภัยธรรมชาติ ทำให้อุปกรณ์ตกปลาจำนวนมากกลายเป็นขยะทางทะเล ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศน์และสัตว์น้ำ นอกจากนี้ อินเดียยังต้องขยับเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาขีดความสามารถทางทะเลผ่านการแก้ไขปัญหาการกระจัดกระจายของระบบและขาดงบประมาณในการบูรณาการเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อมุ่งไปสู่การสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งเชื่อว่าด้วยศักยภาพทั้งหลายที่กล่าวมานั้น จะทำให้อินเดียก้าวสู่การเป็นผู้นำของโลกด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงินอย่างแน่นอน

*   *   *   *   *

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่
1. http://www.seafdec.or.th/home/fishery-knowledge/fishery-management/blue-economy
2. https://timesofindia.indiatimes.com/blogs/voices/diving-into-indias-blue-economy-a-sea-of-opportunities/
3. https://www.geospatialworld.net/prime/business-and-industry-trends/the-high-tide-harnessing-indias-blue-economy/
4. https://pib.gov.in/PressReleasePage.aspx?PRID=1845257
5. https://sai20.org/blue-economy
6. https://www.downtoearth.org.in/news/environment/indian-blue-economy-is-thriving-but-country-needs-to-be-careful-about-marine-litter-87813
7. https://www.investindia.gov.in/team-india-blogs/indias-blue-economy