การนำภาคเอกชนไทยเยือนภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

การนำภาคเอกชนไทยเยือนภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ย. 2565

| 382 view

ระหว่างวันที่ 19 – 23 กันยายน 2565 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลีได้จัดโครงการนำภาคเอกชนไทยเยือน 3 รัฐในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ได้แก่รัฐอัสสัม เมฆาลัย และมณีปุระ คณะฯ นำโดยนางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี และประกอบด้วยผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดตาก ตัวแทนจากกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และตัวแทนจากภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในอินเดีย รวมทั้งสิ้น 6 คน นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังได้ส่งผู้แทนทั้งในระดับผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลความสัมพันธ์ไทย - อินเดีย เข้าร่วมด้วย โดยวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการฯ คือการสร้างโอกาสทางธุรกิจ การค้า และการลงทุนให้กับภาคเอกชนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยมีเหตุผลมาจาก (1) การประกาศนโยบาย Act East ของรัฐบาลอินเดีย มุ่นเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Look West ของไทย ที่มุ่งเน้นสร้างสัมพันธ์กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียในฐานะตลาดใหม่ (2) ระยะทางที่ใกล้กันระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียกับอาเซียนและไทย และความเป็นไปได้ที่จะมีการเชื่อมโยงระหว่างสองภูมิภาคผ่านเส้นทางถนนสามฝ่ายอินเดีย-เมียนมา-ไทย และความเชื่อมโยงทางทะเลผ่านอ่าวเบงกอล และ (3) พื้นฐานความใกล้ชิดกันทางวัฒนธรรมระหว่างประชากรในภูมิภาคกับชาวไทย

ในช่วงเวลา 5 วันใน 3 รัฐ นั้น เอกอัครราชทูตฯ ได้นำคณะฯ เข้าเยี่ยมคารวะมุขมนตรีของรัฐอัสสัมและมณีปุระ รวมถึงเข้าพบกับรัฐมนตรีในระดับรัฐที่ดูแลมิติเศรษฐกิจด้วย โดยการเข้าเยี่ยมคารวะ-เข้าพบนั้นได้ทำให้คณะฯ ได้รับทราบถึงแนวทางการดำเนินนโยบายของแต่ละรัฐ รวมถึงสาขาที่รัฐเหล่านั้นให้ความสำคัญ ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนเครือข่ายและทำความรู้จักกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้โดยตรง นอกจากนี้ คณะยังได้เดินทางเข้าศึกษาดูงานในหน่วยงานสำคัญในมิติเศรษกิจของทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย อาทิ บรรษัทเงินทุนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Development Finance Corporation - NEDFI) หน่วยงานพัฒนาทักษะของรัฐอัสสัม (Assam Skill Development Mission - ASDM) ด่านตรวจชายแดนแบบบูรณาการที่เมือง Moreh ซึ่งติดกับชายแดนเมียนมา เป็นต้น

นอกเหนือจากการเดินทางเข้าศึกษาดูงานและเข้าเยี่ยมคารวะแล้ว คณะฯ ยังได้พบหารือเชิงวิชาการ โดยเฉพาะในประเด็นด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์กับ Asian Confluence ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองและวิจัยในรัฐเมฆาลัย อีกทั้งยังได้พบปะกับผู้นำภาคธุรกิจในทั้ง 3 รัฐ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตร่วมจัดกับสมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย (Confederation of Indian Industries – CII) ในโอกาสเดียวกันนี้ เอกอัครราชทูตฯ ยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและผลักดันประเด็นคั่งค้างอื่น ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือเพื่อการพัฒนา อาทิ ในรัฐอัสสัม ทั้งฝ่ายไทยและอินเดียได้ตกลงกันในเป้าหมายที่จะริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ในด้านการเกษตร อุตสาหกรรมการทอผ้า และการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ในรูปแบบคอร์สระยะสั้นในทั้งสองประเทศ และในมณีปุระ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแสวงหาลู่ทางให้เกิดการเรียนการสอนภาษาไทยในรัฐ ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้กับคนในพื้นที่ที่จะเดินทางไปเรียนหรือประกอบอาชีพในเมืองไทย อีกทั้งยังได้หารือในการเพิ่มพูนความร่วมมือในสาขาการบริหารจัดการแรงงาน การพัฒนาทักษะ และการสาธารณสุขอีกด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ