โครงการผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเยือนไทย ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฎาคม 2566

โครงการผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเยือนไทย ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฎาคม 2566

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.ค. 2566

| 364 view

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนประกอบการรุ่นใหม่จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเยือนไทย ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฎาคม 2566 เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ระหว่างไทยกับอินเดีย โดยเป็นการดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2  ในปีนี้มุ่งเน้นสาขาอุตสาหกรรมด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวซึ่งเป็นสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญในระดับสากล และฝ่ายอินเดียมีความต้องการได้รับองค์ความรู้ดังกล่าวเพื่อนำไปปรับใช้กับบริบทของพื้นที่ตน และก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเครือข่ายระหว่างกัน นำไปสู่ความร่วมมือและ/หรือการลงทุนระหว่างกันที่เพิ่มมากขึ้น โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ และ Asian Confluence สถาบันคลังสมองด้านภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนืออินเดีย ตั้งอยู่ที่เมืองชิลลอง รัฐเมฆาลัย ได้ร่วมกันคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ 9 คน เข้าร่วมโครงการ

ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสเข้าศึกษาดูงานยังสถานที่ต่าง ๆ ใน 3 ด้าน ดังนี้  

1. การบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้นำ คณะฯ ได้มีโอกาสเข้าศึกษาดูงาน ณ บริเวณพื้นที่พระบรมมหาราชวัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และกองทัพเรือสัตหีบ จึงได้เห็นบทบาทหน่วยงานภาครัฐไทย ที่มีส่วนส่งเสริมในการปรับพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งในทางราชการ ทางประวัติศาสตร์และศาสนา และความมั่นคง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย และหลายแห่งได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและโด่งดังในระดับสากล รวมถึงบริหารจัดการพื้นที่เหล่านั้นอย่างบูรณาการ จนกลายเป็นภาคส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวของประเทศ ในส่

2. การบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยภาคเอกชนเป็นผู้นำ คณะฯ ได้เข้าเยี่ยมชมห้างสรรพสินค้า Royal Garden Plaza และ Ripley’s Believe It or Not และตลาดน้ำ 4 ภาค เมืองพัทยา ทำให้คณะฯ ได้ตระหนักถึงความก้าวหน้าขององค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของไทย ที่สามารถสร้างแหล่งท่องเที่ยวให้ตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันได้ อาทิ Royal Garden Plaza เป็นห้างสรรพสินค้าที่เป็นหมุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวอินเดียที่เดินทางมายังเมืองพัทยา เนื่องจากได้มีการจัดวางรูปแบบสินค้าและกลุ่มราคาที่เหมาะสมกับตลาดนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ในส่วนของ Ripley’s Believe It or Not ได้มีการจัดทำการแสดงให้เหมาะสมกับการมาเที่ยวเป็นครอบครัว ซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวของชาวอินเดียและตะวันออกกลาง และในส่วนของตลาดน้ำ 4 ภาค คณะฯ ได้ศึกษาเรียนรู้วิสัยทัศน์ของภาคเอกชนไทยในการสร้างแหล่งท่องเที่ยวมูลค่าสูงจากที่ดินรกร้างว่างเปล่า ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดและประเทศ อีกทั้งยังตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยตลาดฯ ได้สร้างอาชีพทำกินให้แก่ 700 กว่าครัวเรือน และมีการบริหารจัดการน้ำเสีย การระบายน้ำ และการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ที่เป็นไปตามมาตรฐาน

3. การบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน คณะฯ ได้เข้าศึกษาดูงาน ณ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวตำบลตะเคียนเตี้ย จังหวัดชลบุรี ได้เรียนรู้องค์ความรู้อันเป็นเลิศของไทยในด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยรัฐมีส่วนสนับสนุนทั้งในด้านเงินทุนและการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับชุมชนในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ยังผลประโยชน์ให้กลับมาสู่ชุมชนอย่างเท่าเทียม

นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้มีโอกาสเข้ารับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับนโยบายการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยได้รับข้อมูลทั้งในด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของไทยทั้งจากผู้แทนของกระทรวงฯ รวมทั้งได้พบผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเมืองพัทยา และภาคเอกชนชั้นนำ ซึ่งทำให้คณะฯ ได้รับความรู้เกี่ยวกับวิธีการในการประเมินคุณภาพโรงแรมของไทย การบริการจัดการกมัคคุเทศก์ และความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน อีกทั้ยยังได้พบปะสร้างเครือข่ายกับเอกชนด้านการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งประกอบด้วย (1) การสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้านการท่องเที่ยวของกลุ่ม YEN-D (2) การเข้ารับฟังการบรรยายและหารือกับนายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามพาร์คซิตี้ จำกัด และกรรมการนายทะเบียนหอการค้าไทย (3) การเข้าร่วมงาน Pattaya Travel Mart 2023 ซึ่งเป็นงานหารือธุรกิจระหว่างผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวกับผู้ซื้อบริการ (Buyer-Seller Meet) ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกของไทย โดยได้เปิดโอกาสให้คณะฯ สามารถเข้าร่วมโปรโมตการท่องเที่ยวของรัฐของตนด้วย

ตลอดช่วงเวลาการดำเนินโครงการฯ คณะฯ ได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยที่มีอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวที่มีการบริหารจัดการที่ดีเยี่ยม สามารถทำให้สถานที่ท่องเที่ยวไทยเป็นที่โด่งดังระดับโลก และโดยเฉพาะในช่วงหลังสถานการณ์ COVID-19 ที่ได้มีการนำนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาปรับใช้ และชื่นชมความร่วมมือกันอย่างแข็งขันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนไทยในการร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเอาผลประโยชน์แห่งชาติและของประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะฯ ทั้งหมดหวังที่จะนำไปปรับใช้กับบริบทของอินเดียต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ