สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี เข้าร่วมงานสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ Indian@2030: Third Largest Economy in the World

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี เข้าร่วมงานสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ Indian@2030: Third Largest Economy in the World

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ม.ค. 2567

| 412 view

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 นายธีรภัทร มงคลนาวิน อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี เข้าร่วมงานสัมมนาในหัวข้อ “Indian @2030: Third Largest Economy in the World” จัดโดย Jesus and Mary College มหาวิทยาลัยเดลี โดยผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียและผลกระทบในระดับนานาชาติ
    

นายธีรภัทรฯ กล่าวย้ำถึงความเข้มแข็งและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียและโอกาสต่าง ๆ ในอนาคตที่มาพร้อมกับการเติบโตดังกล่าว รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับบทบาทที่สำคัญของภาควิชาการ ความร่วมมือด้านการศึกษา และการแลกเปลี่ยนนักวิชาการระหว่างไทยกับอินเดียและประเทศต่าง ๆ ในฐานะหนึ่งในผู้สนับสนุนด้านข้อมูลด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินเดียและประเทศต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความร่วมมือ ระหว่างกันในโอกาสที่อินเดียกำลังมุ่งหน้าไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลกในปี ค.ศ. 2030

 

ผู้เข้าร่วมสำคัญภายในงานยังประกอบด้วย Dr. Nagesh Kumar ผู้อำนวยการ Institute for Studies in Industrial Development (ISID) และ Ms. Amee Mishra นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส และหัวหน้าแผนกนโยบายประจำ United Nations Development Programme (UNDP) ประจำอินเดีย ซึ่งได้ร่วมแบ่งปันมุมมองต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ภูมิทัศน์ของอินเดีย

 

สถานเอกอัครราชทูตฯ ยินดีที่นักวิชาการชาวไทยทั้ง 3 ท่าน เข้าร่วมงานสัมมนาด้วย ได้แก่ ดร. ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดร. โสภนา ศรีจำปา รองศาสตราจารย์ศูนย์ภารตะศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร. ปิยณัฐ สร้อยคำ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยในระหว่างการประชุม ดร. ฐิติพลฯ กล่าวถึงความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา (MGC) และความสนใจของอินเดียต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ดร. โสภนาฯ กล่าวถึงกลุ่มชาวอินเดียโพ้นทะเล (Indian diaspora) ในประเทศไทยและการใช้ soft power ผ่านทางประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม

บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานสัมมนาฯ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการผลักดันความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันในโอกาสที่อินเดียเดินหน้าไปสู่การเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยงานสัมมนาครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ แต่ยังมีส่วนร่วมในการวางพื้นฐานสำหรับ
ความร่วมมือในอนาคตในด้านการศึกษา การพัฒนาที่ยั่งยืน และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศอินเดียและประเทศไทย



S__3883249    S__3883247