วันที่นำเข้าข้อมูล 20 มิ.ย. 2566
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางเยือนกรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เพื่อกล่าวปาฐกถาในการสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ BIMSTEC: The Way Ahead (หนทางในอนาคตของกรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ) ซึ่งจัดโดย India Foundation ณ India Habitat Centre ภายหลังจากการเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม BIMSTEC Business Conclave 2023 ณ เมืองกัลกัตตา ระหว่างวันที่ 12 – 13 มีนาคม 2566
ในการกล่าวปาฐกถา ผู้ช่วยรัฐมนตรีได้แสดงความคิดเห็นว่าบิมสเทคถือเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ด้วยจำนวนประชากรที่รวมกันกว่า 1.8 พันล้านคนหรือร้อยละ 23 ของประชากรโลก GDP รวมกันกว่า 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพัฒนาการล่าสุดเมื่อปี 2565 ที่ได้มีการรับรองกฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC Charter) โดยผู้นำของประเทศสมาชิกและมีผลบังคับใช้ ทำให้บิมสเทคก้าวไปสู่การเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเต็มตัวและมีความพร้อมที่จะตอบสนองต่อความท้าทายในโลกปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงว่ากรอบความร่วมมือพหุภาคีต่าง ๆ ในโลกล้วนเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไทยจึงมีข้อเสนอ 3 ประการ เพื่อให้บิมสเทคสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันได้แก่ (1) ประเทศสมาชิกบิมสเทคควรจะร่วมส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยไทยในฐานะประเทศนำ (Lead Country) ในสาขาความเชื่อมโยงของบิมสเทค พร้อมที่จะผลักดันความเชื่อมโยงในทุกมิติร่วมกับทุกประเทศสมาชิก และเร่งการปฏิบัติตามแผนแม่บทว่าด้วยการคมนาคมของบิมสเทค และการสรุปความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล (2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียของบิมสเทคให้มากขึ้น เนื่องจากกรอบความร่วมมือใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้หากไม่ยึดโยงอยู่กับประชาชนในภูมิภาคและประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการนี้ ไทยจึงเสนอให้มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่มภาคเอกชนของทุกประเทศสมาชิกในกระบวนการต่างๆ ของบิมสเทค และเสนอให้มีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจบิมสเทค เพื่อเป็นเวทีให้กับผู้แทนจากภาคเอกชนจากรัฐสมาชิกบิมสเทคได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และ (3) ส่งเสริมความเข้มแข็งเชิงสถาบันของบิมสเทคในภาพรวม ซึ่งประกอบด้วยการจัดทำกฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบบิมสเทค ซึ่งจะช่วยทำให้บิมสเทคสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสร้างพันธมิตรกับภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นส่วนที่ไทยได้ดำเนินการจัดทำเสร็จสิ้นแล้ว และการดำเนินการตามวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ ๒๐๓๐ (BIMSTEC Bangkok Vision 2030) ตั้งอยู่บนพื้นฐาน แนวคิด Prosperous Resilient and Open BIMSTEC (PRO BIMSTEC) เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่สำคัญ (deliverable) ของการเป็นประธานของไทยเพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนของความร่วมมือบิมสเทค โดยมุ่งบรรลุ 3 เป้าหมายสำคัญ (Key goals) ได้แก่ บิมสเทคที่ มั่งคั่ง ยั่งยืน และเปิดกว้าง
นอกจากการแสดงปาฐกถาของผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ แล้ว ยังมีผู้แทนภาครัฐและวิชาการที่เกี่ยวข้องกับบิสมเทคเข้าร่วมเป็นวิทยากรแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้อการปาฐกถาด้วย ได้แก่ พลเรือโท Shekhar Sinha ประธานกรรมการบอร์ดของ India Foundation นาย Saurabh Kumar ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดียฝ่ายกิจการตะวันออก นาง Preeti Saran อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ฝ่ายกิจการตะวันออก และนาย Mohammad Mustafizur Rahman ข้าหลวงใหญ่บังกลาเทศประจำสาธารณรัฐอินเดีย
อนึ่ง การจัดปาฐกถาดังกล่าวเป็นข้อริเริ่มของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ร่วมกับ India Foundation ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองชั้นนำของอินเดีย มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงนิวเดลี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ BIMSTEC และการดำเนินการของประเทศสมาชิกเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคอ่าว เบงกอล และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับนโยบายและบทบาทของไทยต่อ BIMSTEC ในช่วงการเป็นประธาน BIMSTEC ในปี 2565-66 และกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำในเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้ข้อมูล ความรู้แก่บรรดาผู้ที่สนใจจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการของอินเดีย และคณะทูตานุทูตในกรุงนิวเดลี โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 120 คน จากกลุ่มนักวิชาการ นักศึกษา ผู้สนใจ และสื่อมวลชน ซึ่งได้มีการเผยแพร่ข่าวในสื่ออินเดียภายหลัง
รูปภาพประกอบ
เวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ 09:00 - 17:00 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ)
หมายเลขฉุกเฉินสำหรับชาวไทย +๙๑ ๙๕๙๙๓ ๒๑๔๘๔