สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี จัดการสัมมนาโอกาสการลงทุนสำหรับภาคเอกชนอินเดียในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทย (อีอีซี)

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี จัดการสัมมนาโอกาสการลงทุนสำหรับภาคเอกชนอินเดียในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทย (อีอีซี)

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 มี.ค. 2566

| 388 view

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ได้จัดการสัมมนา "Investment at Thailand’s Eastern Economic Corridor -Make in Thailand by Indians for India” ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อประชาสัมพันธ์โอกาสการลงทุนสำหรับภาคเอกชนอินเดียในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทย (EEC) ภายใต้แนวคิด ผลิตในประเทศไทยโดยอินเดียเพื่ออินเดีย โดยมีวิทยากรหลักได้แก่ (1) นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศของสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2) นายนันทพล สุดบรรทัด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน (BOI) ณ เมืองมุมไบ และวิทยากรจากภาคเอกชนอินเดียที่มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจกับไทย ได้แก่ ดร. Rajiv Chhibber รองประธานบริษัท Sahajanand Medical Technology ประกอบธุรกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ และนาย Prashant Choubey ประธานกลุ่ม Avaada ประกอบธุรกิจพลังงานทดแทน โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคเอกชนอินเดียที่สนใจการไปลงทุนในประเทศไทยเข้าร่วมกว่า 30 คน

ในโอกาสนี้ ที่ปรึกษาพิเศษฯ ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับ EEC ว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในหลากหลายสาขา อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศ ดิจิทัล ยานยนต์แห่งอนาคต และด้านการแพทย์อัจริยะ มีสำนักงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลการพัฒนาในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างเป็นองค์รวม โดยได้มีการตราพระราชบัญญัติเพื่อการนี้ไว้โดยเฉพาะ ทำให้มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติสิทธิประโยชน์และแรงจูงใจในการลงทุนได้อย่างเป็นอิสระและรวดเร็ว และสำหรับอินเดียซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงและมีบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญอยู่ในหลายสาขา อาทิ ด้านการแพทย์และเทคโนโลยีสารสนเทศ การขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เช่น EEC จะช่วยส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทานซึ่งเกื้อหนุนนโยบายพึ่งพาตนเองของอินเดีย รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ในมิติการค้าการลงทุนระหว่างไทยและอินเดีย ซึ่งในปัจจุบันยังถึงว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย แต่ยังถือว่ามีศักยภาพอีกมาก นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ BOI ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยที่เกื้อกูลการลงทุนในไทย สิทธิประโยชน์ และมาตรการจูงใจการลงทุน รวมทั้งบริการที่สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนฯ พร้อมสนับสนุนแก่ผู้ที่สนใจไปลงทุนในไทยได้

ดร. Rajiv Chhibber กล่าวจากประสบการณ์ที่บริษัท Sahajanand ได้เข้าไปลงทุนในไทยโดยมีโรงงานอยู่แล้วที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อผลิตอุปกรณ์ใช้รักษาโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ว่ากระบวนการขออนุญาตต่าง ๆ ของไทยมีความตรงไปตรงมา ต่างชาติสามารถเข้าไปประกอบธุรกิจหรือลงทุนได้ง่าย และได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงาน BOI เป็นอย่างดี ทำให้ปัจจุบันมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยและบริษัทฯ อยู่ระหว่างขยายการลงทุนไปยัง EEC ในการเปิดสถาบันวิจัยและพัฒนาซึ่งเป็นแห่งที่ 3 ต่อจากในอินเดียและไอร์แลนด์ สำหรับในส่วนของนาย Prashant Choubey ได้ให้ความเห็นจากประสบการณ์ของบริษัท Avaada ที่ได้ร่วมทุนกับบริษัท GPSC ของไทยในด้านการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดีย โดยชักชวนผู้ที่สนใจเข้าไปลงทุนในประเทศไทยเพราะชาวไทยเป็นคู่ธุรกิจที่ดี มีแบบแผนและมีความเป็นมืออาชีพ

อนึ่ง การจัดสัมมนาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลกับภาคเอกชน – นักลงทุนอินเดียที่มีศักยภาพ เพื่อให้สามารถตัดสินใจเดินทางไปลงทุนในไทยได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยต้องการดึงดูดการลงทุนจากอินเดีย โดยการสัมมนาฯ เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทย - อินเดีย ของสถานเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งมีพันธกิจในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนอย่างครบวงจรให้กับภาคเอกชนของทั้งไทยและอินเดียผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นและผ่านเว็บไซต์ thaiindia.net

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ