วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 ก.ย. 2565

| 3,772 view

ประวัติสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี

 672807

ประเทศไทยและอินเดียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2490 (ค.ศ. 1947) โดยขั้นต้นได้แลกเปลี่ยนผู้แทนในระดับอัครราชทูต มีสถานอัครราชทูตตั้งอยู่ที่เมืองหลวงของแต่ละฝ่าย ต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคม 2494 (ค.ศ. 1951) จึงได้ตกลงยกสถานะสถานอัครราชทูตของแต่ละฝ่ายขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูตและมีผู้แทนระดับเอกอัครราชทูต

สถานเอกอัครราชทูตฯ เดิมเช่าอาคารที่ทำการอยู่ที่ ๑๕ ถนน Aurangzeb กรุงนิวเดลี โดยรัฐบาลอินเดียจัดให้สถานเอกอัครราชทูตฯ เช่าจากเอกชนในอัตราต่ำ คือ เดือนละ 815 รูปี 11 แอนนา ต่อมารัฐบาลอินเดียได้เสนอที่ดินว่างเปล่าที่ส่วนใหญ่เป็นที่รกร้าง แห้งแล้งเป็นหินทรายมาจัดสรรให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เช่าซื้อระยะยาวเพื่อก่อสร้างที่ทำการสถานทูตและเป็นการพัฒนาพื้นที่ โดยรัฐบาลอินเดียยินดีอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคให้ (ปัจจุบันเป็นเขต Chanakyapuri Diplomatic Enclave) ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทยเป็นสถานทูตต่างประเทศชาติแรกที่ได้ตกลงเช่าซื้อที่ดินจากรัฐบาลอินเดีย

หลวงวิจิตรวาทการ เอกอัครราชทูตในสมัยนั้น ได้ขออนุมัติรัฐบาลอินเดียเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างที่ทำการ ณ Block 56 – N, Nyaya Marg, Chanakyapuri เนื้อที่ 4 เอเคอร์ (ประมาณ 11 ไร่) โดยรอบที่ดินมีดังนี้

  • ทิศหนือจรดถนนสัตยะ (Satya Marg)
  • ทิศใต้ติดที่ดินว่าง (ปัจจุบันเป็นสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์)
  • ทิศตะวันออกจรดถนนยายะ (Nyaya Marg)
  • ทิศตะวันตกจรดสวนสาธารณะ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินเดียมิได้ขายที่ดินให้ แต่ได้ให้เป็นการเช่าที่ดินถาวรจากรัฐบาลอินเดีย (Perpetual Lease) ไม่มีกำหนดระยะเวลา และในปี 2496 (ค.ศ. 1953) หลวงภัทรวาที เอกอัครราชทูตรับมอบที่ดินเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2496 และต่อมาลงนามสัญญาเชาที่ดินจากรัฐบาลอินเดียเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2497 โดยมีราคาเช่า ดังนี้

  • ค่าพรีเมียม (Premium) 160,000 รูปี
  • ค่าเช่าที่ดินถาวร (Commuted Ground Rent) 160,000 รูปี
  • ค่าเช่ารายปี (Nominal Ground Rent) 1 รูปี
  • ค่าจดทะเบียนและอากรยกเว้นตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน

เมื่อได้รับมอบที่ดินแล้ว สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือและสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศได้เริ่มก่อสร้างอาคารก่อน รวม 2 หลัง ในราคาหลังละ 170,000 รูปี ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือในสมัยนั้น คือ น.อ. อวบ สุนทรสีมะ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ คือ พล.อ.จ. สวัสดิ์ โพธิ์วิหค (ผู้รับหน้าที่ต่อ คือ น.อ. ประวัติ จิระสถิต) สำหรับสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก เนื่องจากขณะนิน ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกประจำการอยู่ที่ประเทศพม่า กระทรวงกลาโหมจึงโอนงบประมาณไปจัดซื้อสำนักงานที่กรุงย่างกุ้งแทน และจนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีการตั้งสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกในกรุงนิวเดลี

งบประมาณการก่อสร้างสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ในปี 2498

พฤษภาคม 2497 กระทรวงการคลังอนุมัติเงินจำนวน 40,000 รูปี เป็นค่าก่อสร้างกำแพงล้อมบริเวณที่ดิน

28 มีนาคม 2498 กระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือที่ 8448/2498 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2498 อนุมัติให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ดำเนินการสร้างสถานเอกอัครราชทูตฯ ตามแบบแปลนและราคาที่สถาปนิกชาวเยอรมัน คือ นาย Karl Malte Von Heinz เสนอไว้เบื้องต้นที่ 723,044 รูปี

สมัยพระพหิทธานุกรเป็นเอกอัครราชทูต กระทรวงการคลังได้อนุมัติและส่งเงินจำนวน 811,711 รูปี 12 แอนนา 11 ไพซา (ประมาณ 2,134,600.24 บาท) มาเพื่อเป็นค่าก่อสร้างที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตตามแบบที่หลวงภัทรวาที อดีตเอกอัครราชทูตเสนอไว้ ประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง ดังนี้

1. ทำเนียบเอกอัครราชทูตพร้อมเครื่องตกแต่งและเครื่องปรับอากาศ 368,520 รูปี
2. ที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต 99,512 รูปี
3. บ้านพักเลขานุการเอก (ต่อมาเป็นบ้านพักอัครราชทูต แล้วถูกรื้อลง) 52,766 รูปี
4. บ้านพักเลขานุการโท (ต่อมาเป็นบ้านพักอัครราชทูตที่ปรึกษา แล้วถูกรื้อลง) 52,776 รูปี
5. ที่พักคนรับใช้และโรงรถ 69,480 รูปี
6. ค่าตกแต่งสวน ถนน น้ำพุ น้ำประปา 35,000 รูปี
7. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 45,000 รูปี
รวม 723,044 รูปี

7 พฤษภาคม 2498 พระพหิทธานุกร เอกอัครราชทูต ได้มีหนังสือรายงานกระทรวงฯ ตามความเห็นของนาย Karl Malte Von Heinz สถาปนิกว่า หากก่อสร้างตามที่เอกอัครราชทูตคนก่อนเสนอก็จะแออัดเกินไป เพราะมีอาคารสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอยู่แล้ว 2 หลัง จะต้องสร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีก 5 หลัง ในอนาคต หากจะสร้างอาคารอื่นเพิ่มเติมก็จะขยับขยายลำบากหรือทำไม่ได้ จึงเสนอให้รัฐบาลไทยเช่าที่ดินทางด้านใต้เพิ่มอีก 4 เอเคอร์ (เดิมสถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์จองไว้ ปัจจุบันเป็นสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์) จึงจะทำให้มีสนามหญ้ากว้างเพื่อปลูกต้อนไม่ให้ความร่มเย็น และให้ความสะดวกในการรับรอง นอกจากนี้ จะทำให้สถานเอกอัครราชทูตฯ มีถนนล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน หรือจะแบ่งเช่าเพียงครึ่งเดียว ซึ่งทางการอินเดียก็ยินดีให้เช่าในราคาเอเคอร์ละ 40,000 รูปี แต่กระทรวงฯ ได้สั่งให้ก่อสร้างตามแบบทที่หลวงภัทรวาที อดีตเอกอัครราชทูต เสนอไว้ เนื่องจากมีงบประมาณไม่เพียงพอ

พฤศจิกายน 2499 กระทรวงการคลังอนุมัติเงินเพิ่มเติมเพื่อเป็นค่าซื้อเครื่องเรือน และติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นเงิน 184,969 รูปี 7 แอนนา 6 ไพซา สรุปรวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 1,216,740 รูปี (ประมาณ 467,976.92 บาท อัตราแลกเปลี่ยน 1 รูปี เท่ากับประมาณ 2.60 บาท)

กลางปี 2501 สมัยนายบุณย์ เจริญชัย เป็นเอกอัครราชทูต การก่อสร้างสถานเอกอัครราชทูตฯ จึงแล้วเสร็จ โดยใช้ระยะเวลารวม 3 ปี

การปรับปรุงซ่อมแซมทำเนียบเอกอัครราชทูต

ทำเนียบเอกอัครราชทูตก่อสร้างในปี 2498 ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมผสมระหว่างตะวันตกและตะวันออก สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ และอาคารอื่น ๆ รวม 5 หลัง โดยผู้ออกแบบชาวเยอรมันรายเดียวกัน คือ นาย Karl Malte Von Heinz และเป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตหลังแรกในเขต Chanakyapuri และเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งอันเป็นที่รู้จักของชาวอินเดียในกรุงนิวเดลีเนื่องด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรม

672809

ด้านหลังของทำเนียบเอกอัครราชทูต (ช่วงประมาณปี 2553)

โครงสร้างอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กตั้งบนฐานทรายอัดแน่น สูง 2 ชั้น มีดาดฟ้าและมีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดประมาณ 2,150 ตารางเมตร ประกอบด้วย

ชั้นใต้ดิน ประมาณ 191.50 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องเก็บของและห้องผู้ติดตาม
ชั้นที่ 1 ประมาณ 806 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องโถงทางเข้า ห้องโถงทรงรูปไข่ ห้องสมุต ห้องรับรอง ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัว
ชั้นที่ 2  ประมาณ 512 ตารางเมตร ประกอบด้วยโถงบันได และห้องนอน 5 ห้อง
ดาดฟ้า ประมาณ 640.50 ตารางเมตร  

ทำเนียบเอกอัครราชทูตก่อสร้างมานานกว่า 60 ปี ในปี 2540 ตัวอาคารได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมครั้งใหญ่ เป็นเงินทั้งสิ้น 19,968,600 บาท โดยบริษัท ชูจักร์ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ต่อมาในปี 2559 มีการซ่อมแซมทำเนียบครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยบริษัท ดีไซน์ แอนด์ ดีเวลลอป จำกัด เป็นผู้ออกแบบงานปรับปรุงซ่อมแซม และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาปรับปรุงซ่อมแซมทำเนียบ โดยเริ่มงานปรับปรุงซ่อมแซมเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 พร้อมกับการดำเนินงานก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ หลังใหม่

2 มิถุนายน 2560 การปรับปรุงซ่อมแซมอาคารทำเนียบจึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ รวมเป็นมูลค่าการปรับปรุงอาคารทำเนียบ จำนวน 84,500,000 บาท

 

การก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี หลังใหม่ 

672808

อาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ หลังเก่า (ปัจจุบันถูกรื้อลงแล้ว เพื่่อก่อสร้างที่ทำการหลังใหม่)

ในปี 2498 อาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ หลังเดิมก่อสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการก่อสร้างอาคารอื่น ๆ 4 หลัง ได้แก่ ทำเนียบเอกอัครราชทูต บ้านพักอัครราชทูต บ้านพักอัครราชทูตที่ปรึกษา และที่พักเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น อาคารที่ทำการเดิมมีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยเพียงประมาณ 755 ตารางเมตร

พฤศจิกายน 2548 กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาว่าที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ มีอายุการใช้งานยาวนาน มีสภาพทรุดโทรม มีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานตามภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตฯ โดยเฉพาะไม่มีห้องประชุม ห้องรับรอง หรือห้องจัดเลี้ยงที่เหมาะสมกับการเป็นสถานเอกอัครราชทูต และไม่สามารถรองรับหน่วยงานไทยในกรุงนิวเดลีได้ทั้งหมด กระทรวงฯ จึงเห็นความจำเป็นให้ก่อสร้างที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ หลังใหม่ รวมทั้งจัดเขตการใช้พื้นที่ใหม่ให้สอดคล้องกับลักษณะการใช้งาน คือ แบ่งเป็นเขนสำนักงานและที่พักอาศัยให้ชัดเจนเพื่อความเป็นระเบียบและการจัดมาตรการรักษาความปลอดภัย พร้อมทั้งได้ขออนุมัติกรมบัญชีกลางจ่ายเงินค่าออกแบบให้สอดคล้องกับระเบียบท้องถิ่นและค่าควบคุมงานก่อสร้างในอัตรางานละร้อยละ 5 ของวงเงินค่าก่อสร้างเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งต่อมา กรมบัญชีกลางได้อนุมัติเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549

กรกฎาคม 2549 กระทรวงการคลังอนุญาตให้นำเงินค่าธรรมเนียมการกงสุลที่หักไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อที่ดินและอาคารก่อสร้างเป็นที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทดแทนที่เช่า (ปี 2546 – 2551)ไปใช้จ่ายในการดำเนินโครงการก่อสร้างที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี โดยประมาณการค่าก่อสร้างในขณะนั้นไว้ที่ 409,982,725 บาท

ตุลาคม 2549 กระทรวงฯ ลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัท แปลน อาร์คิเต็ค จำกัด และบริษัท แปลน สตูดิโอ จำกัด เป็นผู้ออกแบบอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ โดยมีค่าออกแบบร้อยละ 5 หรือรวม 20,499,136.25 บาท โดยบริษัทฯ เสนอค่าออกแบบทั้งสิ้น 20,000,000 บาท

9 สิงหาคม 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินและทรงเป็นประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสถานเอกอัครราชทูตฯ หลังใหม่ ในช่วงการเสด็จฯ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมงานฉลองครบรอบ 60 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและอินเดีย โดยในงานพิธี มีพระครูศิวาจารย์ เป็นผู้ประกอบพิธีพราหมณ์ และพระราชรัตนรังสี เจ้าอาวาสวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ และสมาชิกคณะพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย - เนปาล เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ (ปัจจุบันคือพระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าคณะพระธรรมทูตไทยฯ และเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา)

กุมภาพันธ์ 2555 นายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต และสถาปนิกจากบริษัท แปลน อาร์คิเต็ค จำกัด ผู้ออกแบบอาคาร ได้นำคณะยื่นขออนุมัติแบบก่อสร้างเฉพาะในส่วนอาคารที่ทำการต่อสภาเทศบาลกรุงนิวเดลี

กุมภาพันธ์ 2556 แบบการก่อสร้างได้รับการอนุมัติจากเทศบาลกรุงนิวเดลี ที่ล่าช้าเนื่องจากความซับซ้อนของกฎระเบียบท้องถิ่น ระยะเวลาในการพิจารณาของหน่วยงานท้องถิ่น และมีการแก้ไขแบบหลายครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบท้องถิ่นและความต้องการใช้งานของสถานเอกอัครราชทูตฯ

แบบอาคารที่ได้รับอนุมัติจากเทศบาลกรุงนิวเดลีในปี 2556 เป็นอาคารที่ทำการฯ หลังใหม่เพียงอาคารเดียว จึงมีการรื้อถอนอาคารเดิมจำนวน 4 หลัง ได้แก่ อาคารที่ทำการหลังเดิม อาคารบ้านพักอัครราชทูต อาคารบ้านพักอัครราชทูตที่ปรึกษา และอาคารฝ่ายกงสุล (เดิมเป็นสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ) และยังคงอาคารบ้านพักลูกจ้างท้องถิ่นไว้เช่นเดิมโดยไม่มีการปรับปรุงอาคาร

อาคารที่ทำการหลังใหม่สร้างขึ้นบนที่ดินเดิม ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น อาคารสถานีไฟฟ้าย่อย 1 อาคาร พื้นที่อาคารโดยรวมประมาณ 5,500 ตารางเมตร โดยมีครุภัณฑ์สำนักงาน (ไม่รวมครุภัณฑ์บางรายการ เช่น ผ้าม่านและพรม) และระบบประกอบอาคารการตกแต่งภายใน และงานภูมิสถาปัตยกรรม สรุปได้ดังนี้

ชั้นใต้ดิน พื้นที่ 1,570 ตารางเมตร เป็นที่จอดรถได้ 31 คัน พร้อมทั้งถังเก็บน้ำใต้ดินความจุ 216.5 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งแบ่งเป็น 3 ถัง ระบบดับเพลิง ลิฟต์โดยสาร 1 ตัว และห้องเครื่องปั๊มน้ำ 1 ห้อง โดยระบบน้ำในอาคารใช้ระบบ Reverse Osmosis (R.O.)
ชั้นที่ 1 พื้นที่ 1,830 ตารางเมตร ประกอบด้วย โถงรับรอง ห้องรับรอง ห้องจัดเลี้ยง ห้องนิทรรศการ ห้องสมุด ห้องทำงานฝ่ายกงสุลและลูกจ้างท้องถิ่น ห้องสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ห้องอาหารพนักงาน ห้องระบบไฟฟ้า MDB และห้อง UPS
ชั้นที่ 2 พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ ห้องผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ ห้องประชุม 4 ห้อง ห้องเก็บเอกสาร และห้องควบคุมระบบ
ชั้นที่ 3 พื้นที่ 900 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องทำงานเอกอัครราชทูต และห้องทำงานข้าราชการ พื้นที่รับร้อง ห้องทำงานพนักงานท้องถิ่น ห้องระบบสื่อสาร และห้องเก็บเอกสาร
สถานีไฟฟ้าย่อย พื้นที่ 160 ตารางเมตร  ประกอบด้วยอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า ตู้ไฟฟ้า และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง

26 กุมภาพันธ์ 2559 สถานเอกอัครราชทูตฯ ลงนามสัญญาจัดจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคาร ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2559 สถานเอกอัครราชทูตฯ ลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัท แปลน อาร์คิเต็ค จำกัด เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างโดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559

งบประมาณในการก่อสร้างอาคารที่ทำการ

- ค่าออกแบบอาคาร  20,000,000 บาท
- ค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการ  446,507,700 บาท
- ค่าควบคุมงาน 22,325,385 บาท
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 3,516,110 บาท
- ระยะเวลาก่อสร้าง  760 วัน (1 เมษายน 2559 – 30 เมษายน 2561)
- วันที่เริ่มการก่อสร้าง  1 เมษายน 2559
- ระยะเวลาขยายการก่อสร้าง 93 วัน
- วงเงินงบประมาณก่อสร้างเพิ่มเติม 1,524,336.69 บาท

อย่างไรก็ตาม โดยที่การก่อสร้างอาคารที่ทำการไม่อาจเริ่มต้นได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมในปี 2555 งานก่อสร้างตามแบบอาคารในช่วง 3 ปีต่อมา จึงต้องปรับปรุงแบบอาคารโดยปรับลดงานบางส่วนออก โดยเฉพาะการจัดซื้อครุภัณฑ์ใช้งานภายในอาคาร เช่น พรมและผ้าม่าน เพื่อให้งานก่อสร้างอยู่ในวงเงินที่กำหนด รวมทั้งประบแบบงานระบบหลายรายการ เช่น ไฟฟ้า สื่อสาร งานระบบฝ่ายกงสุล และงานสุขาภิบาล เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของสถานเอกอัครราชทูตฯ ประกอบกับงานก่อสร้างต้องชะลอเป็นระยะเพื่อดำเนินการตามข้อกำหนดท้องถิ่น เช่น หน่วยงานอินเดียประกาศให้ระงับการก่อสร้างทั่วกรุงนิวเดลีเป็นครั้งคราวเพื่อลดปัญหามลภาวะในอากาศ เป็นต้น ทำให้การก่อสร้างไม่ต่อเนื่องและจำเป็นต้องขยายระยะเวลาก่อสร้างจากเดิม

มีนาคม 2561 กระทรวงฯ อนุมัติงบประมาณตามคำขอของสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับการใช้งานในอาคารที่ทำการหลังใหม่ โดยเบิกจ่ายจากเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกงสุล (เงิน 10%) เป็นวงเงินรวม 12,725,699.96 รูปี ดังนี้

- งานติดตั้งระบบและอุปกรณ์แก็ส PNG 167,289 รูปี
- จัดซื้ออุปกรณ์ครัวประจำที่ทำการ 4,014,680 รูปี
- จัดซื้อพรมประจำสำนักงาน 5 ผืน  5,191,971.52 รูปี
- จัดซื้อผ้าม่านภายในอาคาร 2,602,827.92 รูปี
- จัดซื้อเครื่องโทรศัพท์ IP และ Software 19 เครื่อง 748,931.52 รูปี

เมษายน 2561 คณะกรรมการตรวจการจ้างฯ มีความเห็นให้ขยายระยะเวลาก่อสร้างอาคารที่ทำการออกไป 93 วัน นับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา โดยมีงานเพิ่มเติมในวงเงิน 4,081,825 บาท และแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในปลายปี 2561

26 พฤศจิกายน 2561 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต

 

ต้นโพธิ์ในบริเวณสถานเอกอัครราชทูต 

ในโอกาสที่รัฐบาลอินเดียภายใต้นายกรัฐมนตรีเนห์รู ได้จัดงานพุทธชยันตี เพื่อเฉลิมฉลองโอกาส 25 พุทธศตวรรษอย่างยิ่งใหญ่เมื่อปี 2499 นั้น รัฐบาลอินเดียได้เชิญชวนให้รัฐบาลของประเทศพุทธศาสนา รวมทั้งรัฐบาลไทย พิจารณามาสร้างวัดที่ตำบลพุทธคยา รัฐพิหาร ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่ตอบรับคำเชิญดังกล่าว และได้ก่อสร้างวัดไทยพุทธคยาขึ้นในสมัยของเอกอัครราชทูต พระพหิทธานุกร ซึ่งได้มอบหมายให้นายปุ่น จงประเสริฐ เลขานุการสถานเอกอัครราชทูตฯ เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการสร้างวัดไทย หลังจากนั้น นายจีระ เจริญเลิศ ข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ไปร่วมพิธีฉลองวัดที่พุทธคยา และได้รับมอบหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์กลับมายังกรุงนิวเดลี และนำมาปลูกบริเวณใกล้สระน้ำระหว่างอาคารทำเนียบเอกอัครราชทูตและอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ซึ่งได่รับการทำนุบำรุงจนเจริญเติบโตถึงปัจจุบัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และรัฐบาลได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ร่วมกับชุมชนชาวไทยในโอกาสงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 นั้น หลังจากพิธีถวายดอกไม้จันทน์แล้ว สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้นำเถ้าดอกไม้จันทน์มาฝังไว้ที่ใต้ต้นโพธิ์ดังกล่าว

672810 672811

 

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 

ในสมัยของนายธวัชชัย ทวีศรี เอกอัครราชทูต ได้ริเริ่มสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประดิษฐานไว้ ณ สวนหย่อมใกล้กับต้นโพธิ์ ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างอาคารที่ทำการฯ หลังใหม่แล้วเสร็จ สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้เชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ไปประดิษฐานที่สวนระเบียงชั้น 3 ของอาคารที่ทำการฯ 

 

*   *   *   *   *