ประวัติสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
ประเทศไทยและอินเดียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2490 (ค.ศ. 1947) โดยขั้นต้นได้แลกเปลี่ยนผู้แทนในระดับอัครราชทูต มีสถานอัครราชทูตตั้งอยู่ที่เมืองหลวงของแต่ละฝ่าย ต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคม 2494 (ค.ศ. 1951) จึงได้ตกลงยกสถานะสถานอัครราชทูตของแต่ละฝ่ายขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูตและมีผู้แทนระดับเอกอัครราชทูต
สถานเอกอัครราชทูตฯ เดิมเช่าอาคารที่ทำการอยู่ที่ ๑๕ ถนน Aurangzeb กรุงนิวเดลี โดยรัฐบาลอินเดียจัดให้สถานเอกอัครราชทูตฯ เช่าจากเอกชนในอัตราต่ำ คือ เดือนละ 815 รูปี 11 แอนนา ต่อมารัฐบาลอินเดียได้เสนอที่ดินว่างเปล่าที่ส่วนใหญ่เป็นที่รกร้าง แห้งแล้งเป็นหินทรายมาจัดสรรให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เช่าซื้อระยะยาวเพื่อก่อสร้างที่ทำการสถานทูตและเป็นการพัฒนาพื้นที่ โดยรัฐบาลอินเดียยินดีอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคให้ (ปัจจุบันเป็นเขต Chanakyapuri Diplomatic Enclave) ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทยเป็นสถานทูตต่างประเทศชาติแรกที่ได้ตกลงเช่าซื้อที่ดินจากรัฐบาลอินเดีย
หลวงวิจิตรวาทการ เอกอัครราชทูตในสมัยนั้น ได้ขออนุมัติรัฐบาลอินเดียเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างที่ทำการ ณ Block 56 – N, Nyaya Marg, Chanakyapuri เนื้อที่ 4 เอเคอร์ (ประมาณ 11 ไร่) โดยรอบที่ดินมีดังนี้
อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินเดียมิได้ขายที่ดินให้ แต่ได้ให้เป็นการเช่าที่ดินถาวรจากรัฐบาลอินเดีย (Perpetual Lease) ไม่มีกำหนดระยะเวลา และในปี 2496 (ค.ศ. 1953) หลวงภัทรวาที เอกอัครราชทูตรับมอบที่ดินเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2496 และต่อมาลงนามสัญญาเชาที่ดินจากรัฐบาลอินเดียเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2497 โดยมีราคาเช่า ดังนี้
เมื่อได้รับมอบที่ดินแล้ว สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือและสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศได้เริ่มก่อสร้างอาคารก่อน รวม 2 หลัง ในราคาหลังละ 170,000 รูปี ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือในสมัยนั้น คือ น.อ. อวบ สุนทรสีมะ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ คือ พล.อ.จ. สวัสดิ์ โพธิ์วิหค (ผู้รับหน้าที่ต่อ คือ น.อ. ประวัติ จิระสถิต) สำหรับสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก เนื่องจากขณะนิน ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกประจำการอยู่ที่ประเทศพม่า กระทรวงกลาโหมจึงโอนงบประมาณไปจัดซื้อสำนักงานที่กรุงย่างกุ้งแทน และจนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีการตั้งสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกในกรุงนิวเดลี
งบประมาณการก่อสร้างสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ในปี 2498
พฤษภาคม 2497 กระทรวงการคลังอนุมัติเงินจำนวน 40,000 รูปี เป็นค่าก่อสร้างกำแพงล้อมบริเวณที่ดิน
28 มีนาคม 2498 กระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือที่ 8448/2498 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2498 อนุมัติให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ดำเนินการสร้างสถานเอกอัครราชทูตฯ ตามแบบแปลนและราคาที่สถาปนิกชาวเยอรมัน คือ นาย Karl Malte Von Heinz เสนอไว้เบื้องต้นที่ 723,044 รูปี
สมัยพระพหิทธานุกรเป็นเอกอัครราชทูต กระทรวงการคลังได้อนุมัติและส่งเงินจำนวน 811,711 รูปี 12 แอนนา 11 ไพซา (ประมาณ 2,134,600.24 บาท) มาเพื่อเป็นค่าก่อสร้างที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตตามแบบที่หลวงภัทรวาที อดีตเอกอัครราชทูตเสนอไว้ ประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง ดังนี้
1. ทำเนียบเอกอัครราชทูตพร้อมเครื่องตกแต่งและเครื่องปรับอากาศ | 368,520 | รูปี |
2. ที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต | 99,512 | รูปี |
3. บ้านพักเลขานุการเอก (ต่อมาเป็นบ้านพักอัครราชทูต แล้วถูกรื้อลง) | 52,766 | รูปี |
4. บ้านพักเลขานุการโท (ต่อมาเป็นบ้านพักอัครราชทูตที่ปรึกษา แล้วถูกรื้อลง) | 52,776 | รูปี |
5. ที่พักคนรับใช้และโรงรถ | 69,480 | รูปี |
6. ค่าตกแต่งสวน ถนน น้ำพุ น้ำประปา | 35,000 | รูปี |
7. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ | 45,000 | รูปี |
รวม | 723,044 | รูปี |
7 พฤษภาคม 2498 พระพหิทธานุกร เอกอัครราชทูต ได้มีหนังสือรายงานกระทรวงฯ ตามความเห็นของนาย Karl Malte Von Heinz สถาปนิกว่า หากก่อสร้างตามที่เอกอัครราชทูตคนก่อนเสนอก็จะแออัดเกินไป เพราะมีอาคารสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอยู่แล้ว 2 หลัง จะต้องสร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีก 5 หลัง ในอนาคต หากจะสร้างอาคารอื่นเพิ่มเติมก็จะขยับขยายลำบากหรือทำไม่ได้ จึงเสนอให้รัฐบาลไทยเช่าที่ดินทางด้านใต้เพิ่มอีก 4 เอเคอร์ (เดิมสถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์จองไว้ ปัจจุบันเป็นสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์) จึงจะทำให้มีสนามหญ้ากว้างเพื่อปลูกต้อนไม่ให้ความร่มเย็น และให้ความสะดวกในการรับรอง นอกจากนี้ จะทำให้สถานเอกอัครราชทูตฯ มีถนนล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน หรือจะแบ่งเช่าเพียงครึ่งเดียว ซึ่งทางการอินเดียก็ยินดีให้เช่าในราคาเอเคอร์ละ 40,000 รูปี แต่กระทรวงฯ ได้สั่งให้ก่อสร้างตามแบบทที่หลวงภัทรวาที อดีตเอกอัครราชทูต เสนอไว้ เนื่องจากมีงบประมาณไม่เพียงพอ
พฤศจิกายน 2499 กระทรวงการคลังอนุมัติเงินเพิ่มเติมเพื่อเป็นค่าซื้อเครื่องเรือน และติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นเงิน 184,969 รูปี 7 แอนนา 6 ไพซา สรุปรวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 1,216,740 รูปี (ประมาณ 467,976.92 บาท อัตราแลกเปลี่ยน 1 รูปี เท่ากับประมาณ 2.60 บาท)
กลางปี 2501 สมัยนายบุณย์ เจริญชัย เป็นเอกอัครราชทูต การก่อสร้างสถานเอกอัครราชทูตฯ จึงแล้วเสร็จ โดยใช้ระยะเวลารวม 3 ปี
การปรับปรุงซ่อมแซมทำเนียบเอกอัครราชทูต
ทำเนียบเอกอัครราชทูตก่อสร้างในปี 2498 ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมผสมระหว่างตะวันตกและตะวันออก สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ และอาคารอื่น ๆ รวม 5 หลัง โดยผู้ออกแบบชาวเยอรมันรายเดียวกัน คือ นาย Karl Malte Von Heinz และเป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตหลังแรกในเขต Chanakyapuri และเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งอันเป็นที่รู้จักของชาวอินเดียในกรุงนิวเดลีเนื่องด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรม
ด้านหลังของทำเนียบเอกอัครราชทูต (ช่วงประมาณปี 2553)
โครงสร้างอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กตั้งบนฐานทรายอัดแน่น สูง 2 ชั้น มีดาดฟ้าและมีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดประมาณ 2,150 ตารางเมตร ประกอบด้วย
ชั้นใต้ดิน | ประมาณ 191.50 ตารางเมตร | ประกอบด้วยห้องเก็บของและห้องผู้ติดตาม |
ชั้นที่ 1 | ประมาณ 806 ตารางเมตร | ประกอบด้วยห้องโถงทางเข้า ห้องโถงทรงรูปไข่ ห้องสมุต ห้องรับรอง ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัว |
ชั้นที่ 2 | ประมาณ 512 ตารางเมตร | ประกอบด้วยโถงบันได และห้องนอน 5 ห้อง |
ดาดฟ้า | ประมาณ 640.50 ตารางเมตร |
ทำเนียบเอกอัครราชทูตก่อสร้างมานานกว่า 60 ปี ในปี 2540 ตัวอาคารได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมครั้งใหญ่ เป็นเงินทั้งสิ้น 19,968,600 บาท โดยบริษัท ชูจักร์ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ต่อมาในปี 2559 มีการซ่อมแซมทำเนียบครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยบริษัท ดีไซน์ แอนด์ ดีเวลลอป จำกัด เป็นผู้ออกแบบงานปรับปรุงซ่อมแซม และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาปรับปรุงซ่อมแซมทำเนียบ โดยเริ่มงานปรับปรุงซ่อมแซมเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 พร้อมกับการดำเนินงานก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ หลังใหม่
2 มิถุนายน 2560 การปรับปรุงซ่อมแซมอาคารทำเนียบจึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ รวมเป็นมูลค่าการปรับปรุงอาคารทำเนียบ จำนวน 84,500,000 บาท
การก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี หลังใหม่
อาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ หลังเก่า (ปัจจุบันถูกรื้อลงแล้ว เพื่่อก่อสร้างที่ทำการหลังใหม่)
ในปี 2498 อาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ หลังเดิมก่อสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการก่อสร้างอาคารอื่น ๆ 4 หลัง ได้แก่ ทำเนียบเอกอัครราชทูต บ้านพักอัครราชทูต บ้านพักอัครราชทูตที่ปรึกษา และที่พักเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น อาคารที่ทำการเดิมมีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยเพียงประมาณ 755 ตารางเมตร
พฤศจิกายน 2548 กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาว่าที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ มีอายุการใช้งานยาวนาน มีสภาพทรุดโทรม มีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานตามภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตฯ โดยเฉพาะไม่มีห้องประชุม ห้องรับรอง หรือห้องจัดเลี้ยงที่เหมาะสมกับการเป็นสถานเอกอัครราชทูต และไม่สามารถรองรับหน่วยงานไทยในกรุงนิวเดลีได้ทั้งหมด กระทรวงฯ จึงเห็นความจำเป็นให้ก่อสร้างที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ หลังใหม่ รวมทั้งจัดเขตการใช้พื้นที่ใหม่ให้สอดคล้องกับลักษณะการใช้งาน คือ แบ่งเป็นเขนสำนักงานและที่พักอาศัยให้ชัดเจนเพื่อความเป็นระเบียบและการจัดมาตรการรักษาความปลอดภัย พร้อมทั้งได้ขออนุมัติกรมบัญชีกลางจ่ายเงินค่าออกแบบให้สอดคล้องกับระเบียบท้องถิ่นและค่าควบคุมงานก่อสร้างในอัตรางานละร้อยละ 5 ของวงเงินค่าก่อสร้างเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งต่อมา กรมบัญชีกลางได้อนุมัติเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549
กรกฎาคม 2549 กระทรวงการคลังอนุญาตให้นำเงินค่าธรรมเนียมการกงสุลที่หักไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อที่ดินและอาคารก่อสร้างเป็นที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทดแทนที่เช่า (ปี 2546 – 2551)ไปใช้จ่ายในการดำเนินโครงการก่อสร้างที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี โดยประมาณการค่าก่อสร้างในขณะนั้นไว้ที่ 409,982,725 บาท
ตุลาคม 2549 กระทรวงฯ ลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัท แปลน อาร์คิเต็ค จำกัด และบริษัท แปลน สตูดิโอ จำกัด เป็นผู้ออกแบบอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ โดยมีค่าออกแบบร้อยละ 5 หรือรวม 20,499,136.25 บาท โดยบริษัทฯ เสนอค่าออกแบบทั้งสิ้น 20,000,000 บาท
9 สิงหาคม 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินและทรงเป็นประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสถานเอกอัครราชทูตฯ หลังใหม่ ในช่วงการเสด็จฯ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมงานฉลองครบรอบ 60 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและอินเดีย โดยในงานพิธี มีพระครูศิวาจารย์ เป็นผู้ประกอบพิธีพราหมณ์ และพระราชรัตนรังสี เจ้าอาวาสวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ และสมาชิกคณะพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย - เนปาล เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ (ปัจจุบันคือพระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าคณะพระธรรมทูตไทยฯ และเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา)
กุมภาพันธ์ 2555 นายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต และสถาปนิกจากบริษัท แปลน อาร์คิเต็ค จำกัด ผู้ออกแบบอาคาร ได้นำคณะยื่นขออนุมัติแบบก่อสร้างเฉพาะในส่วนอาคารที่ทำการต่อสภาเทศบาลกรุงนิวเดลี
กุมภาพันธ์ 2556 แบบการก่อสร้างได้รับการอนุมัติจากเทศบาลกรุงนิวเดลี ที่ล่าช้าเนื่องจากความซับซ้อนของกฎระเบียบท้องถิ่น ระยะเวลาในการพิจารณาของหน่วยงานท้องถิ่น และมีการแก้ไขแบบหลายครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบท้องถิ่นและความต้องการใช้งานของสถานเอกอัครราชทูตฯ
แบบอาคารที่ได้รับอนุมัติจากเทศบาลกรุงนิวเดลีในปี 2556 เป็นอาคารที่ทำการฯ หลังใหม่เพียงอาคารเดียว จึงมีการรื้อถอนอาคารเดิมจำนวน 4 หลัง ได้แก่ อาคารที่ทำการหลังเดิม อาคารบ้านพักอัครราชทูต อาคารบ้านพักอัครราชทูตที่ปรึกษา และอาคารฝ่ายกงสุล (เดิมเป็นสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ) และยังคงอาคารบ้านพักลูกจ้างท้องถิ่นไว้เช่นเดิมโดยไม่มีการปรับปรุงอาคาร
อาคารที่ทำการหลังใหม่สร้างขึ้นบนที่ดินเดิม ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น อาคารสถานีไฟฟ้าย่อย 1 อาคาร พื้นที่อาคารโดยรวมประมาณ 5,500 ตารางเมตร โดยมีครุภัณฑ์สำนักงาน (ไม่รวมครุภัณฑ์บางรายการ เช่น ผ้าม่านและพรม) และระบบประกอบอาคารการตกแต่งภายใน และงานภูมิสถาปัตยกรรม สรุปได้ดังนี้
ชั้นใต้ดิน | พื้นที่ 1,570 ตารางเมตร | เป็นที่จอดรถได้ 31 คัน พร้อมทั้งถังเก็บน้ำใต้ดินความจุ 216.5 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งแบ่งเป็น 3 ถัง ระบบดับเพลิง ลิฟต์โดยสาร 1 ตัว และห้องเครื่องปั๊มน้ำ 1 ห้อง โดยระบบน้ำในอาคารใช้ระบบ Reverse Osmosis (R.O.) |
ชั้นที่ 1 | พื้นที่ 1,830 ตารางเมตร | ประกอบด้วย โถงรับรอง ห้องรับรอง ห้องจัดเลี้ยง ห้องนิทรรศการ ห้องสมุด ห้องทำงานฝ่ายกงสุลและลูกจ้างท้องถิ่น ห้องสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ห้องอาหารพนักงาน ห้องระบบไฟฟ้า MDB และห้อง UPS |
ชั้นที่ 2 | พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร | ประกอบด้วย ห้องผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ ห้องผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ ห้องประชุม 4 ห้อง ห้องเก็บเอกสาร และห้องควบคุมระบบ |
ชั้นที่ 3 | พื้นที่ 900 ตารางเมตร | ประกอบด้วย ห้องทำงานเอกอัครราชทูต และห้องทำงานข้าราชการ พื้นที่รับร้อง ห้องทำงานพนักงานท้องถิ่น ห้องระบบสื่อสาร และห้องเก็บเอกสาร |
สถานีไฟฟ้าย่อย | พื้นที่ 160 ตารางเมตร | ประกอบด้วยอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า ตู้ไฟฟ้า และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง |
26 กุมภาพันธ์ 2559 สถานเอกอัครราชทูตฯ ลงนามสัญญาจัดจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคาร ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2559 สถานเอกอัครราชทูตฯ ลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัท แปลน อาร์คิเต็ค จำกัด เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างโดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559
งบประมาณในการก่อสร้างอาคารที่ทำการ
- ค่าออกแบบอาคาร | 20,000,000 บาท |
- ค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการ | 446,507,700 บาท |
- ค่าควบคุมงาน | 22,325,385 บาท |
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ | 3,516,110 บาท |
- ระยะเวลาก่อสร้าง | 760 วัน (1 เมษายน 2559 – 30 เมษายน 2561) |
- วันที่เริ่มการก่อสร้าง | 1 เมษายน 2559 |
- ระยะเวลาขยายการก่อสร้าง | 93 วัน |
- วงเงินงบประมาณก่อสร้างเพิ่มเติม | 1,524,336.69 บาท |
อย่างไรก็ตาม โดยที่การก่อสร้างอาคารที่ทำการไม่อาจเริ่มต้นได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมในปี 2555 งานก่อสร้างตามแบบอาคารในช่วง 3 ปีต่อมา จึงต้องปรับปรุงแบบอาคารโดยปรับลดงานบางส่วนออก โดยเฉพาะการจัดซื้อครุภัณฑ์ใช้งานภายในอาคาร เช่น พรมและผ้าม่าน เพื่อให้งานก่อสร้างอยู่ในวงเงินที่กำหนด รวมทั้งประบแบบงานระบบหลายรายการ เช่น ไฟฟ้า สื่อสาร งานระบบฝ่ายกงสุล และงานสุขาภิบาล เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของสถานเอกอัครราชทูตฯ ประกอบกับงานก่อสร้างต้องชะลอเป็นระยะเพื่อดำเนินการตามข้อกำหนดท้องถิ่น เช่น หน่วยงานอินเดียประกาศให้ระงับการก่อสร้างทั่วกรุงนิวเดลีเป็นครั้งคราวเพื่อลดปัญหามลภาวะในอากาศ เป็นต้น ทำให้การก่อสร้างไม่ต่อเนื่องและจำเป็นต้องขยายระยะเวลาก่อสร้างจากเดิม
มีนาคม 2561 กระทรวงฯ อนุมัติงบประมาณตามคำขอของสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับการใช้งานในอาคารที่ทำการหลังใหม่ โดยเบิกจ่ายจากเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกงสุล (เงิน 10%) เป็นวงเงินรวม 12,725,699.96 รูปี ดังนี้
- งานติดตั้งระบบและอุปกรณ์แก็ส PNG | 167,289 | รูปี |
- จัดซื้ออุปกรณ์ครัวประจำที่ทำการ | 4,014,680 | รูปี |
- จัดซื้อพรมประจำสำนักงาน 5 ผืน | 5,191,971.52 | รูปี |
- จัดซื้อผ้าม่านภายในอาคาร | 2,602,827.92 | รูปี |
- จัดซื้อเครื่องโทรศัพท์ IP และ Software 19 เครื่อง | 748,931.52 | รูปี |
เมษายน 2561 คณะกรรมการตรวจการจ้างฯ มีความเห็นให้ขยายระยะเวลาก่อสร้างอาคารที่ทำการออกไป 93 วัน นับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา โดยมีงานเพิ่มเติมในวงเงิน 4,081,825 บาท และแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในปลายปี 2561
26 พฤศจิกายน 2561 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต
ต้นโพธิ์ในบริเวณสถานเอกอัครราชทูต
ในโอกาสที่รัฐบาลอินเดียภายใต้นายกรัฐมนตรีเนห์รู ได้จัดงานพุทธชยันตี เพื่อเฉลิมฉลองโอกาส 25 พุทธศตวรรษอย่างยิ่งใหญ่เมื่อปี 2499 นั้น รัฐบาลอินเดียได้เชิญชวนให้รัฐบาลของประเทศพุทธศาสนา รวมทั้งรัฐบาลไทย พิจารณามาสร้างวัดที่ตำบลพุทธคยา รัฐพิหาร ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่ตอบรับคำเชิญดังกล่าว และได้ก่อสร้างวัดไทยพุทธคยาขึ้นในสมัยของเอกอัครราชทูต พระพหิทธานุกร ซึ่งได้มอบหมายให้นายปุ่น จงประเสริฐ เลขานุการสถานเอกอัครราชทูตฯ เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการสร้างวัดไทย หลังจากนั้น นายจีระ เจริญเลิศ ข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ไปร่วมพิธีฉลองวัดที่พุทธคยา และได้รับมอบหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์กลับมายังกรุงนิวเดลี และนำมาปลูกบริเวณใกล้สระน้ำระหว่างอาคารทำเนียบเอกอัครราชทูตและอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ซึ่งได่รับการทำนุบำรุงจนเจริญเติบโตถึงปัจจุบัน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และรัฐบาลได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ร่วมกับชุมชนชาวไทยในโอกาสงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 นั้น หลังจากพิธีถวายดอกไม้จันทน์แล้ว สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้นำเถ้าดอกไม้จันทน์มาฝังไว้ที่ใต้ต้นโพธิ์ดังกล่าว
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ในสมัยของนายธวัชชัย ทวีศรี เอกอัครราชทูต ได้ริเริ่มสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประดิษฐานไว้ ณ สวนหย่อมใกล้กับต้นโพธิ์ ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างอาคารที่ทำการฯ หลังใหม่แล้วเสร็จ สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้เชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ไปประดิษฐานที่สวนระเบียงชั้น 3 ของอาคารที่ทำการฯ
* * * * *
09.00 - 17.00 Mon - Fri